วันพุธที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

Function Analysis ในยามง่วง

ตื่นขึ้นมา กลางห้องเรียน ในยามบ่าย
ช่างเหนื่อยหน่าย ง่วงจน ทนไม่ไหว
ทั้ง Banach ทั้ง Hahn มาทำไม
กลับบ้านไป ตอนนี้ ไม่ต้องการ

อีก Complex Linear รวมถึง normed
ฉันต้องยอม ทนฟัง ถึงแค่ไหน
Partially Order Set เรียนทำไม
ใช้ที่ไหน ไม่นานไป เดี๋ยวก็ลืม

Integrate Measure ช่างดูดดื่ม
น่าปลาบปลื้ม Prove เข้าไป เถอะเธอจ๋า
ไม่มีวัน สิ้นสุด ไม่เลิกลา
เรียนจนบ้า ก็ไม่รู้ ไม่เข้าใจ...

ไหว้ครู 2550

พระคุณครู เลิศฟ้า มหาสมุทร 
พระคุณครู สูงสุด มหาศาล
พระคุณครู เลิศหล้า สุทธาธาร 
ใครจะปาน ครูฉัน นั้นไม่มี

ท่านอุทิศ เวลา เพื่อลูกศิษย์ 
ท่านเหมือนมิตร ยามยาก ไม่หน่ายหนี
ท่านถ่ายทอด ความรู้ พูนทวี 
ท่านยินดี เมื่อเห็นศิษย์ สำเร็จการ

ศิษย์ดีใจ ที่มี ครูประเสริฐ 
ครูล้ำเสิศ วิชา ความรู้หาญ
ครูใส่ใจ ในศิษย์ มิรำคาญ 
ครูสำราญ ศิษย์ดีใจ ไม่แพ้กัน

แต่ให้รู้ ครูฉัน พิเศษกว่า 
วิศวะ จุฬา ภาคไหนๆ
ครูของฉัน ล้ำเลิศ กว่าใครๆ 
ถ้าสนใจ ก็ลอง มาฟังดู

ครูท่านแรก ที่อยาก ให้รู้จัก 
ท่านมีพักตร์ ร่าเริง อยู่เสมอ
ทุกปัญหา แก้ได้ ถ้าท่านเจอ 
ท่านเสนอ ความคิด อันเฉียบคม

ประสบการณ์ ของท่าน สุดล้ำลึก 
หากลองนึก สีโปรด คงเป็นส้ม
แต่หลังๆ มีน้ำตาล เข้ามาปน 
อย่าฉงน ก็อาจารย์ ประภาสไง

ท่านอาจารย์ วีระ แล๊ปSpace 
มีพิเศษ ทำCluster ให้ได้ใช้
เหล่าAdmin หน้าใส ลูกศิษย์ใคร 
ถ้าไม่ใช่ เด็กสร้าง อาจารย์เอง

Parallel Distribute ทำไงหนอ 
คงร้องอ๋อ ถ้าได้ถาม อาจารย์เป้ง
ดูภายนอก อาจารย์ น่าหวั่นเกรง 
แต่กันเอง กับศิษย์ ด้วยไมตรี

หากว่ายัง ยุ่งยาก ลำบากอยู่ 
อ.ทวิตีย์ ท่านก็รู้ ลองดูซี่
หรือจะเป็น อ.ยรรยง ท่านใจดี 
Security เรื่องนี้ ท่านชำนาญ

ท่านต่อมา ที่ต้อง ขอกล่าวถึง 
เรื่องAlgor ท่านหนึ่ง ไม่เป็นสอง
JLabแน่ ขึ้นชื่อ ไม่เป็นรอง 
ถ้าลองตรอง คงรู้ ครูสมชาย

ถ้าหากท่าน สามารถ ตื่นแต่เช้า 
ชั้นสิบเก้า ลองดู ก่อนยามสาย
ท่านจะเห็น แสงไฟ เป็นประกาย 
ส่องเฉิดฉาย จากห้อง อ.วันชัย

Software-Eng Testing Analysis 
ถ้าหากคิด อยากรู้ ทำไฉน
อ.ธาราทิพย์ อ.นครทิพย์ หรือว่าใคร 
อ.พรศิริ ได้ไหม ช่วยบอกที

อยากทำนาย ราคาหุ้น หรืออากาศ 
แต่กลัวพลาด เพราะว่าเป็น Time-Series
คงต้องให้ อ.โชติรัตน์ มาช่วยที 
เผื่อจะมี เทคนิคดีๆ มาช่วยทาย

ถ้าไม่พอ ขออ.ญาใจ เป็นที่พึ่ง 
เหมืองข้อมูล อีกอย่างหนึ่ง คงไม่สาย
RealOption คงช่วยได้ สบายๆ 
ไม่เสียดาย ถ้าได้ถาม อ.ดาริชา

แต่หากท่าน ต้องการ ชาญฉลาด
จำไม่พลาด ทายถูก รู้ภาษา
จัดกลุ่มได้ จำแนกได้ เหมือนด้วยตา
ลองปรึกษา อ.บุญเสริม แห่งแล๊ปMIND

อ.สาธิต คนสำคัญ หัวหน้าภาค
WaterMark ท่านรู้แน่ อย่าแก้ไข
ลายเซ็นท่าน เราอยากได้ มาทันใจ
เอกสารส่งไป นอกภาค ทันเวลา

แต่หากเน็ต ย่ำแย่ ต้องแก้ไข
อาจารย์เกริก นั่นไง อยู่คอยท่า
อ.นงลักษณ์ เรื่องImage ก็เข้าตา 
หรืออ.เศรษฐา AutoMotive ก็เข้าที

อาจารย์เรา ยังมี ที่เป็นคู่ 
พิษณุ-วิษณุ อาจจะ ดูสับสน
อรรถสิทธิ์ อรรถวิทย์ อย่าเพิ่งงง 
อติวงศ์ กับอาทิตย์ ก็ตัว"อ"

อ.ชัยศิริ ธงชัย และชัยรัต
คงประจักษ์ รู้กัน อยู่ทั่วหน้า
อ.บุญชัย ก็อวยชัย ให้เรา เสมอมา
ศิษย์รู้ค่า ซึ้งใน พระคุณครู

อ.สืบสกุล ท่านรอบรู้ ในทุกด้าน
อ.โปรดปราน ท่านชำนาญ งานCosting
อ.ฐิต Hardware เท่ห์จริงๆ
อ.เมธี ทำหลายสิ่ง ต้องถามดู

อ.วิวัฒน์ เชี่ยวชาญ เรื่องSpec
อ.เฉลิมเอก เรื่องWireless ท่านรู้แน่
อ.จารุมาตร DataBase ท่านไม่แคร์
อย่าpresentแย่ บอกแล้ว ไม่ยอมฟัง

Programming กับSA เราก็เจ๋ง
เพราะอาจารย์ เราเก่งๆ อยู่หลายท่าน
ทั้งชูชีพ มัณฑนา ธนาวรรณ 
อ.เชษฐ สุเมธท่าน และวิชาญ

ท่านสุดท้าย ที่อยาก จะกล่าวถึง
เป็นท่านหนึ่ง ที่ร่าเริง สนุกสนาน
Assembly ท่านรู้ ท่านชำนาญ
คุมโครงการ สอนทางไกล อ.กอบกุล

อย่างที่รู้ ป.เอก เรียนน้อยนิด 
ไม่ใกล้ชิด กับอาจารย์ หลายๆท่าน
แต่ความรัก ความเคารพ ที่ให้กัน 
ไม่มีวัน จืดจาง น้อยหน้าใคร...

วันอังคารที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

เมื่อคิดจะเป็น...นักพัฒนาซอฟต์แวร์ (มืออาชีพ)

มากกว่าครึ่งของโครงการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ล่าช้า
หลายโครงการใช้งบประมาณเกินกว่าที่คาดการณ์
หนึ่งในสี่ของโครงการพัฒนาซอฟต์แวร์ล้มเหลว
มีโครงการจำนวนมากที่ไม่เสร็จและต้องยกเลิกไป
และมีเพียงไม่ถึง 30% เท่านั้นที่ประสบความสำเร็จ [1]

นักพัฒนาซอฟต์แวร์ส่วนใหญ่รู้ซึ้งถึงปัญหาเหล่านี้เป็นอย่างดี และสามารถอธิบายถึงสาเหตุของความล้มเหลวที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจาก การกำหนดแผนงานที่ไม่เหมาะสม การประมาณค่าใช้จ่ายที่ผิดพลาด ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดและไม่เพียงพอ หรือ ความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ แม้ว่าปัญหาเหล่านี้จะพบเจอกันอยู่เสมอ และไม่ได้ยุ่งยากในการแก้ไข แต่ก็มีนักพัฒนาซอฟต์แวร์เพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่สามารถจัดการกับปัญหาเหล่านี้ได้อย่างเหมาะสม

เป็นที่รู้กันดีว่าระบบคอมพิวเตอร์เข้ามามีบทบาทกับชีวิตของเราเพิ่มขึ้น ทำให้เราต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับซอฟต์แวร์ต่างๆ และยังคงต้องการซอฟต์แวร์ที่มีคุณภาพ เชื่อถือได้ ปลอดภัย และ มีเสถียรภาพ แต่ในความเป็นจริงแล้วหลายๆโปรแกรมอาจยังมีข้อผิดพลาดซุกซ่อนอยู่ การจัดการคุณภาพที่ไม่ดีเป็นสาเหตุของหลายๆปัญหาที่เกิดขึ้นกับซอฟต์แวร์ในปัจจุบัน ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการทดสอบและแก้ปัญหา   แม้ว่าจะเป็นโปรแกรมเล็กๆ แต่ก็อาจมีข้อผิดพลาดซ่อนอยู่เป็นจำนวนมาก และโดยปรกติแล้ว จำนวนข้อผิดพลาดเหล่านี้จะเพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณเมื่อขนาดของโปรแกรมใหญ่ขึ้น ซึ่งอาจทำให้ต้องใช้เวลาแก้ไขหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน

วิศวกรซอฟต์แวร์จึงต้องเป็นบุคคลซึ่งรู้วิธีการที่จะทำงานให้มีคุณภาพ ตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้สามารถบริหารจัดการทีมพัฒนาซอฟต์แวร์ได้อย่างเหมาะสม และ วางแผนการทำงานได้อย่างแม่นยำ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ควรเริ่มต้นจากการรู้ถึงประสิทธิภาพของผู้พัฒนาซอฟต์แวร์แต่ละคน อันส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพของซอฟต์แวร์ที่ผลิต ถ้าแต่ละบุคคลสามารถเขียนแต่ละส่วนของโปรแกรมให้มีคุณภาพที่ดีก็จะทำให้สามารถผลิตซอฟต์แวร์ที่มีคุณภาพออกมาได้

การจะรู้ถึงประสิทธิภาพในการทำงานของแต่ละบุคคลนั้น ทางหนึ่งที่ทำได้คือการจดบันทึกทุกขั้นตอนในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของเวลาที่ใช้ หรือข้อผิดพลาดต่างๆที่เกิดขึ้น แน่นอนว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงาน เพื่อทำให้เป็นระเบียบมากขึ้น สำหรับคนที่ยังไม่คุ้นเคยอาจมองว่าเป็นการเพิ่มภาระ และ ทำให้เสียเวลา แต่เมื่อทำอย่างสม่ำเสมอจนเกิดเป็นความเคยชินแล้วความยุ่งยากเหล่านั้นก็จะไม่เป็นอุปสรรค์ และจะทำให้เรามีข้อมูลเพื่อนำมาวิเคราะห์ หาหนทางในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และปรับปรุงกระบวนการทำงานให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคลได้

การที่เรามีข้อมูล ทำให้เราสามารถป้องกันข้อผิดพลาดต่างๆที่เคยเกิดขึ้นแล้ว และอาจจะเกิดขึ้นอีก ซึ่งดีกว่าการตามไปแก้ไขในภายหลัง อีกทั้งยังมีข้อมูลเพื่อนำมาใช้ช่วยวางแผนการทำงาน ซึ่งจะช่วยเพิ่มความแม่นยำของแผน และ สามารถติดตามแผนได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่เงื่อนไขที่สำคัญอันหนึ่ง คือ ข้อมูลที่ทำการจดบันทึกนั้น ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะถูกนำมาใช้ในการประเมินแต่ละบุคคล เนื่องจากงานแต่ละอย่างมีความแตกต่างกัน และเมื่อใดที่คุณคิดจะเอาข้อมูลเหล่านั้นมาใช้ประเมินแต่ละบุคคล เมื่อนั้นคุณอาจได้เห็นแต่ข้อมูลที่ดูสวยงาม และ คงไม่มีประโยชน์ที่จะนำมาใช้วิเคราะห์อะไรอีกต่อไป...

เพียงเท่านี้คงพอจะเห็นแล้วว่า การเป็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์มืออาชีพได้คงไม่ใช่เพียงแค่เขียนโปรแกรมเป็น...

อ้างอิง
1. Watts S. Humphrey, “PSP: A Self-Improvement Process for Software Engineering,” Addison Wesley, NJ, 2005

27 สิงหาคม 2553


มาวางแผนสร้างบ้านกันเถอะ



   เมื่อหลายเดือนก่อนมีอาจารย์ท่านหนึ่งกรุณารับเชิญมาบรรยายในเรื่อง การจัดการโครงการพัฒนาซอฟต์แวร์โดยมีเวลาให้เพียง 5 ชั่วโมง ที่จะต้องบรรยายให้ผู้ฟังซึ่งมีพื้นฐานความรู้ต่างกันฟัง โดยถ้าพิจารณาจากหัวข้อ ผู้เขียนมองเป็นหัวข้อที่ค่อนข้างกว้าง จนนึกภาพไม่ออกว่าจะบรรยายเรื่องอะไรได้บ้างในเวลาจำกัด และให้คนฟังรู้เรื่อง โดยไม่รู้สึกง่วงนอน แล้วก็แอบจินตนาการต่อไปเองว่า ถ้าผู้เขียนกำลังเลือกหัวข้อบรรยายที่จะเข้าฟังอยู่ โดยมีสิทธิ์เลือกได้เพียงหัวข้อเดียว จากกว่า 20 หัวข้อ ผู้เขียนจะเลือกฟังหัวข้อนี้หรือไม่... คำตอบที่แอบตอบตัวเองอยู่ในใจคือ...แน่ใจว่าไม่!

   มิใช่ว่าหัวข้อดังกล่าวจะไม่น่าสนใจหรอกนะ แต่ลำพังตัวผู้เขียนเองไม่ใคร่จะถูกกับวิชาที่ออกแนวบรรยายสักเท่าไหร่ และภาพของวิชาการจัดการโครงการพัฒนาซอฟต์แวร์ ก็น่าจะเป็นการบรรยายถึงอะไรที่จับต้องไม่ได้ เป็นนามธรรม ไร้ซึ่งทฤษฎีที่สามารถพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนด้วยสมการทางคณิตศาสตร์ เป็นเพียงการนำเอาสูตรสมการบางส่วนมาใช้แทรกอยู่ตามจุดเล็กๆ แล้วนอกนั้นก็ใช้ประสบการณ์ ความเชื่อ ความคิดเห็น ของคนบางกลุ่ม มาตั้งเป็นทฤษฎีให้คนอื่นๆปฏิบัติตาม ถ้าใช้ได้ดีก็เอาความดีความชอบไป...เทคนิคนั้นดี เทคนิคนี้เยี่ยม แต่ถ้าไม่ได้ผลก็กลายเป็นว่า...ใช้ไม่เป็น ใช้ไม่ถูก หรือ ใช้ไม่เหมาะ โอ้...มันช่างน่าเบื่อหน่ายเหลือเกินสำหรับตัวผู้เขียน

   แน่นอนว่าหลายๆคนคงไม่คิดเช่นนั้น ผู้เขียนเองมีเพื่อนคนหนึ่งที่คลั่งไคล้มาตราฐานต่างๆเป็นอย่างมาก ถึงขนาดเถียงกันอย่างเอาเป็นเอาตายทุกครั้งที่บังอาจไปตำหนิติเตียนมาตราฐานที่ท่านศรัทธา อ่ะ..อย่าให้มาได้อ่านเจอเชียวนะ ไม่เช่นนั้นคงได้บ่นกันอีกกระบุงใหญ่ อันที่จริงแล้วผู้เขียนเองก็ยอมรับว่ามาตราฐานต่างๆมีข้อดี คนที่คิดหรือกำหนดมาตราฐานขึ้นก็คงเล็งเห็นแล้วว่ามันจะเป็นประโยชน์ และก็คงอยากบอกสิ่งดีๆต่อ เพื่อให้คนอื่นได้ทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ มีแนวทางชัดเจน หรือไม่ทำงานไปโดยไร้ค่า แต่ทำอย่างไรได้เล่า...ก็ผู้เขียนไม่ได้รู้ซึ้งถึงมันสักเท่าไหร่ พัฒนาซอฟต์แวร์เหรอ ก็แค่สร้างให้มันเสร็จทัน ไม่มีข้อผิดพลาด ตั้งใจทำให้ดีซะตั้งแต่แรกเท่านี้ก็น่าจะพอ แล้วจะเอามาตราฐานมาทำให้วุ่นวาย เสียเวลาเพิ่มไปอีกทำไมกัน

   ทุกวันนี้ผู้เขียนก็ยังเชื่อเช่นนั้น คือถ้าทำให้ดีตั้งแต่แรกก็จะไม่มีปัญหา ไม่จำเป็นต้องตรวจสอบ แต่ก็ได้รับรู้เพิ่มเติมอีกว่า การทำให้ดีตั้งแต่แรกนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งถ้าทำงานเป็นทีม ถึงเราจะพยายามท าให้ดีสักแค่ไหน ถ้าคนอื่นไม่ได้พยายามด้วย หรือ ทำกันคนละแบบก็ย่อมจะเกิดปัญหาได้ ดังนั้นถ้าไม่มีมาตราฐาน ไม่มีการตรวจสอบ หรือไม่มีการวางแผนล่วงหน้า หนทางสู่ความสำเร็จก็จะค่อยๆดูมืดมนลงเมื่อเวลาส่งงานคืบคลานเข้ามา ถึงแม้จะตระหนักเช่นนั้น แต่จะให้ผู้เขียนกลับไปนั่งเรียนวิชาการจัดการโครงการพัฒนาซอฟต์แวร์ อย่างสนุกสนานราวกับเป็นวิชาที่โปรดปราน ก็ยังคงเป็นเรื่องที่ทำได้ยากยิ่ง โดยเฉพาะถ้าเป็นการบรรยายอันแสนยาวนานและน่าเบื่อด้วยแล้ว ผู้เขียนแทบไม่อยากจะได้ยิน

   แต่ด้วยเหตุที่ว่า ผู้เขียนเป็นผู้เรียนเชิญอาจารย์ท่านนั้นมาบรรยาย จึงมีหน้าที่สำคัญอันหนึ่ง คือการต้อนรับอาจารย์ท่านนั้น รวมถึงจัดเตรียมอุปกรณ์ต่างๆที่จะใช้ในการบรรยายด้วย อาจารย์ท่านนั้นให้ช่วยจัดเตรียมอุปกรณ์ ทั้งกระดาษจำนวนมาก ดินสอ ไม้บรรทัด กรรไกร คัตเตอร์ กาว และ สก๊อตเทป อย่างละหลายชิ้น เพิ่งมารู้ในภายหลังว่าอุปกรณ์เหล่านี้จะมีมูลค่ามากกว่าที่มันเป็น เมื่อมันได้เข้าไปอยู่ในห้องบรรยาย

   การบรรยายนี้ไม่ได้น่าเบื่ออย่างที่ผู้เขียนแอบคิดไว้ในตอนแรก (ไม่ได้คิดแบบนี้คนเดียวนะ อาจารย์ด้านอื่นอีกหลายท่านก็คิดคล้ายๆกัน…ขอไม่เอ่ยนาม) เริ่มต้นการบรรยายเป็นอย่างไรไม่อาจทราบได้ แต่เมื่อผู้เขียนเข้ามาดูในห้องบรรยายอีกครั้ง พบว่ามีการแบ่งผู้เข้าฟังเป็นกลุ่ม แต่ละกลุ่มต้องใช้ทุนเริ่มต้นที่มีให้ในการขอซื้ออุปกรณ์ต่างๆ อาทิเช่น กระดาษ ไม้บรรทัด กรรไกร สก๊อตเทป ซึ่งขึ้นอยู่กับความต้องการที่สมาชิกในกลุ่มได้ตกลงกัน และนำอุปกรณ์เหล่านี้มาใช้ผลิตของกลับไปขายให้แก่ผู้บรรยาย ถึงตอนนี้คงเดาไม่ยากแล้วสินะว่าของที่ผลิตหรือสร้างขึ้นมานั้นคืออะไร ของที่ต้องสร้างก็คือบ้านนั่นเอง... สร้างบ้านด้วยกระดาษในเวลาที่จำกัด คิดๆดูก็ไม่ยากเท่าไหร่หนิหน่า พับไปพับมา ใส่หลังคาก็น่าจะเสร็จ

   แต่มันไม่แค่นั้นหนะสิ... ก็ลูกค้าเรื่องมาก แล้วไม่ยอมบอกความต้องการทั้งหมดในคราวเดียว บางเรื่องไม่ถามก็ไม่ยอมบอกอีก แถมก่อนหน้านั้น ยังมีให้ทำข้อตกลงว่าจะส่งมอบบ้านให้กี่หลัง ถ้าไม่ได้ตามจำนวนเท่านั้นก็จะถูกปรับด้วย... ทำไปก็ต้องมาคอยวัดว่าได้ขนาดตามที่ลูกค้าบอกมั้ย เวลาเหลือแค่ไหนแล้ว จะทำทันมั้ย หรือควรไปต่อลองกับลูกค้าดีกว่า โอ้...ปัญหาเยอะแยะ อุปกรณ์ที่ซื้อมาก็มีจำกัด ทำให้ช่วยเพื่อนทำไม่ได้ ถ้าจะซื้ออุปกรณ์เพิ่ม กำไรก็จะเหลือนิดเดียว... สุดท้ายก็ต้องทำเท่าที่ทำได้ แบ่งหน้าที่กันไป แล้วค่อยมาตรวจสอบก่อนส่งมอบให้ลูกค้า ซึ่งแทบไม่มีกลุ่มใดทำทัน

   เมื่อถึงเวลาต้องส่งงาน ลูกค้าตรวจงานที่แต่ละกลุ่มส่งมอบแล้วก็พบอีกว่า ไม่มีกลุ่มใดที่ส่งงานได้ตรงตามความต้องการของลูกค้าเลยสักกลุ่มเดียว อ่าว...อุตส่าห์ทุ่มเททำกันมา เหนื่อยกันเปล่าๆหรือนี่ เป็นเพราะอะไรกัน ในที่สุดคุณลูกค้าก็เฉลยว่าเค้าอยากได้บ้านที่มีหน้าต่าง 2 บาน ขอแค่ 2 บานด้วยนะ ใครไม่มีหน้าต่าง หรือใครทำหน้าต่างมาให้ 4 บานก็ถือว่าไม่ตรงความต้องการเช่นกัน... แล้วทุกกลุ่มก็พยายามที่จะโวยวายว่าไม่ได้ตกลงกันไว้ คุณลูกค้ากิตติมศักดิ์โต้กลับมาว่าไม่มีใครมาถาม ก็ไม่จำเป็นต้องบอก มิใช่เหรอ... อืมนะ...ถ้าเป็นคนอื่นก็อาจมีเรื่องกันไปแล้ว แต่นี่เป็นคุณลูกค้า ลูกค้าเป็นพระเจ้า ย่อมได้ๆ...

   หลังจากนั้นทุกคนก็ได้รับรู้ว่า การบริหารจัดการโครงการพัฒนาซอฟต์แวร์มีความยุ่งยากมิใช่น้อย อุปสรรคมาได้จากหลายทิศทาง ทั้งจากคุณลูกค้าผู้เป็นพระเจ้า จากการประมาณการที่อาจมีความผิดพลาด หรือ ข้อจำกัดด้านกำลังคนและเครื่องมือที่มีอยู่ ซึ่งการควบคุมปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้เป็นงานที่ไม่ควรละทิ้ง และหากมีเครื่องมือที่ช่วยในการจัดการหรือทำให้สามารถติดตามความคืบหน้าของงานได้ ก็คงจะช่วยให้โครงการมีแนวโน้มเข้าใกล้ความสำเร็จมากขึ้น และการบรรยายครั้งนั้นก็สอนให้รู้ว่า การเรียนรู้เรื่องการจัดการโครงการพัฒนาซอฟต์แวร์ไม่จำเป็นจะต้องน่าเบื่อเสมอไป หากมีเทคนิคการบรรยายที่ทำให้เห็นภาพ หรือได้ประสบกับปัญหาจริง อย่างเช่น การสร้างบ้าน ดังกล่าว...


   ขอขอบคุณ อ.สุรเดช จิตประไพศาลกุล สำหรับตัวอย่างดีๆ ที่ทำให้ตั้งใจว่าจะเล่าทุกอย่างที่ต้องการเมื่อคิดจะมีบ้านสักหลัง...

18 มิถุนายน 2554

ส่งหมูกลับชายแดน - 13 เม.ย. 2013












Theory of Computation


อยากบอกรักเป็นภาษารูปนัย
หวังว่าเธอคงเข้าใจภาษานั้น
จะ Accept หรือ Reject ไม่ว่ากัน
Automata ของฉัน จะตรวจเอง

String หวานหวาน ที่ส่งไปให้
เธอได้รับ บ้างไหม ช่วงแถลง
Alphabet แต่ละตัว ที่แสดง
Transducer ช่วยจำแลง ลองแปลงดู

ถ้าเธอคิด ว่ามันยาก ลำบากนัก
Non-deterministic เห็นประจักษ์ แน่ชัดอยู่
Null ทั้งหลาย กำจัดได้ เพียงเธอรู้
ไม่ได้ขู่ Kleene ช่วยได้ ดูง่ายลง

Context Free ที่ฉัน นั้นมีให้
หากเธอใช้ รับรอง สมประสงค์
Ambiguous ที่มาทำ ให้มึนงง
คงหมดลง เพราะแพ้ทาง ข้อความรักเธอ...