วันพุธที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

Function Analysis ในยามง่วง

ตื่นขึ้นมา กลางห้องเรียน ในยามบ่าย
ช่างเหนื่อยหน่าย ง่วงจน ทนไม่ไหว
ทั้ง Banach ทั้ง Hahn มาทำไม
กลับบ้านไป ตอนนี้ ไม่ต้องการ

อีก Complex Linear รวมถึง normed
ฉันต้องยอม ทนฟัง ถึงแค่ไหน
Partially Order Set เรียนทำไม
ใช้ที่ไหน ไม่นานไป เดี๋ยวก็ลืม

Integrate Measure ช่างดูดดื่ม
น่าปลาบปลื้ม Prove เข้าไป เถอะเธอจ๋า
ไม่มีวัน สิ้นสุด ไม่เลิกลา
เรียนจนบ้า ก็ไม่รู้ ไม่เข้าใจ...

ไหว้ครู 2550

พระคุณครู เลิศฟ้า มหาสมุทร 
พระคุณครู สูงสุด มหาศาล
พระคุณครู เลิศหล้า สุทธาธาร 
ใครจะปาน ครูฉัน นั้นไม่มี

ท่านอุทิศ เวลา เพื่อลูกศิษย์ 
ท่านเหมือนมิตร ยามยาก ไม่หน่ายหนี
ท่านถ่ายทอด ความรู้ พูนทวี 
ท่านยินดี เมื่อเห็นศิษย์ สำเร็จการ

ศิษย์ดีใจ ที่มี ครูประเสริฐ 
ครูล้ำเสิศ วิชา ความรู้หาญ
ครูใส่ใจ ในศิษย์ มิรำคาญ 
ครูสำราญ ศิษย์ดีใจ ไม่แพ้กัน

แต่ให้รู้ ครูฉัน พิเศษกว่า 
วิศวะ จุฬา ภาคไหนๆ
ครูของฉัน ล้ำเลิศ กว่าใครๆ 
ถ้าสนใจ ก็ลอง มาฟังดู

ครูท่านแรก ที่อยาก ให้รู้จัก 
ท่านมีพักตร์ ร่าเริง อยู่เสมอ
ทุกปัญหา แก้ได้ ถ้าท่านเจอ 
ท่านเสนอ ความคิด อันเฉียบคม

ประสบการณ์ ของท่าน สุดล้ำลึก 
หากลองนึก สีโปรด คงเป็นส้ม
แต่หลังๆ มีน้ำตาล เข้ามาปน 
อย่าฉงน ก็อาจารย์ ประภาสไง

ท่านอาจารย์ วีระ แล๊ปSpace 
มีพิเศษ ทำCluster ให้ได้ใช้
เหล่าAdmin หน้าใส ลูกศิษย์ใคร 
ถ้าไม่ใช่ เด็กสร้าง อาจารย์เอง

Parallel Distribute ทำไงหนอ 
คงร้องอ๋อ ถ้าได้ถาม อาจารย์เป้ง
ดูภายนอก อาจารย์ น่าหวั่นเกรง 
แต่กันเอง กับศิษย์ ด้วยไมตรี

หากว่ายัง ยุ่งยาก ลำบากอยู่ 
อ.ทวิตีย์ ท่านก็รู้ ลองดูซี่
หรือจะเป็น อ.ยรรยง ท่านใจดี 
Security เรื่องนี้ ท่านชำนาญ

ท่านต่อมา ที่ต้อง ขอกล่าวถึง 
เรื่องAlgor ท่านหนึ่ง ไม่เป็นสอง
JLabแน่ ขึ้นชื่อ ไม่เป็นรอง 
ถ้าลองตรอง คงรู้ ครูสมชาย

ถ้าหากท่าน สามารถ ตื่นแต่เช้า 
ชั้นสิบเก้า ลองดู ก่อนยามสาย
ท่านจะเห็น แสงไฟ เป็นประกาย 
ส่องเฉิดฉาย จากห้อง อ.วันชัย

Software-Eng Testing Analysis 
ถ้าหากคิด อยากรู้ ทำไฉน
อ.ธาราทิพย์ อ.นครทิพย์ หรือว่าใคร 
อ.พรศิริ ได้ไหม ช่วยบอกที

อยากทำนาย ราคาหุ้น หรืออากาศ 
แต่กลัวพลาด เพราะว่าเป็น Time-Series
คงต้องให้ อ.โชติรัตน์ มาช่วยที 
เผื่อจะมี เทคนิคดีๆ มาช่วยทาย

ถ้าไม่พอ ขออ.ญาใจ เป็นที่พึ่ง 
เหมืองข้อมูล อีกอย่างหนึ่ง คงไม่สาย
RealOption คงช่วยได้ สบายๆ 
ไม่เสียดาย ถ้าได้ถาม อ.ดาริชา

แต่หากท่าน ต้องการ ชาญฉลาด
จำไม่พลาด ทายถูก รู้ภาษา
จัดกลุ่มได้ จำแนกได้ เหมือนด้วยตา
ลองปรึกษา อ.บุญเสริม แห่งแล๊ปMIND

อ.สาธิต คนสำคัญ หัวหน้าภาค
WaterMark ท่านรู้แน่ อย่าแก้ไข
ลายเซ็นท่าน เราอยากได้ มาทันใจ
เอกสารส่งไป นอกภาค ทันเวลา

แต่หากเน็ต ย่ำแย่ ต้องแก้ไข
อาจารย์เกริก นั่นไง อยู่คอยท่า
อ.นงลักษณ์ เรื่องImage ก็เข้าตา 
หรืออ.เศรษฐา AutoMotive ก็เข้าที

อาจารย์เรา ยังมี ที่เป็นคู่ 
พิษณุ-วิษณุ อาจจะ ดูสับสน
อรรถสิทธิ์ อรรถวิทย์ อย่าเพิ่งงง 
อติวงศ์ กับอาทิตย์ ก็ตัว"อ"

อ.ชัยศิริ ธงชัย และชัยรัต
คงประจักษ์ รู้กัน อยู่ทั่วหน้า
อ.บุญชัย ก็อวยชัย ให้เรา เสมอมา
ศิษย์รู้ค่า ซึ้งใน พระคุณครู

อ.สืบสกุล ท่านรอบรู้ ในทุกด้าน
อ.โปรดปราน ท่านชำนาญ งานCosting
อ.ฐิต Hardware เท่ห์จริงๆ
อ.เมธี ทำหลายสิ่ง ต้องถามดู

อ.วิวัฒน์ เชี่ยวชาญ เรื่องSpec
อ.เฉลิมเอก เรื่องWireless ท่านรู้แน่
อ.จารุมาตร DataBase ท่านไม่แคร์
อย่าpresentแย่ บอกแล้ว ไม่ยอมฟัง

Programming กับSA เราก็เจ๋ง
เพราะอาจารย์ เราเก่งๆ อยู่หลายท่าน
ทั้งชูชีพ มัณฑนา ธนาวรรณ 
อ.เชษฐ สุเมธท่าน และวิชาญ

ท่านสุดท้าย ที่อยาก จะกล่าวถึง
เป็นท่านหนึ่ง ที่ร่าเริง สนุกสนาน
Assembly ท่านรู้ ท่านชำนาญ
คุมโครงการ สอนทางไกล อ.กอบกุล

อย่างที่รู้ ป.เอก เรียนน้อยนิด 
ไม่ใกล้ชิด กับอาจารย์ หลายๆท่าน
แต่ความรัก ความเคารพ ที่ให้กัน 
ไม่มีวัน จืดจาง น้อยหน้าใคร...

วันอังคารที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

เมื่อคิดจะเป็น...นักพัฒนาซอฟต์แวร์ (มืออาชีพ)

มากกว่าครึ่งของโครงการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ล่าช้า
หลายโครงการใช้งบประมาณเกินกว่าที่คาดการณ์
หนึ่งในสี่ของโครงการพัฒนาซอฟต์แวร์ล้มเหลว
มีโครงการจำนวนมากที่ไม่เสร็จและต้องยกเลิกไป
และมีเพียงไม่ถึง 30% เท่านั้นที่ประสบความสำเร็จ [1]

นักพัฒนาซอฟต์แวร์ส่วนใหญ่รู้ซึ้งถึงปัญหาเหล่านี้เป็นอย่างดี และสามารถอธิบายถึงสาเหตุของความล้มเหลวที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจาก การกำหนดแผนงานที่ไม่เหมาะสม การประมาณค่าใช้จ่ายที่ผิดพลาด ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดและไม่เพียงพอ หรือ ความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ แม้ว่าปัญหาเหล่านี้จะพบเจอกันอยู่เสมอ และไม่ได้ยุ่งยากในการแก้ไข แต่ก็มีนักพัฒนาซอฟต์แวร์เพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่สามารถจัดการกับปัญหาเหล่านี้ได้อย่างเหมาะสม

เป็นที่รู้กันดีว่าระบบคอมพิวเตอร์เข้ามามีบทบาทกับชีวิตของเราเพิ่มขึ้น ทำให้เราต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับซอฟต์แวร์ต่างๆ และยังคงต้องการซอฟต์แวร์ที่มีคุณภาพ เชื่อถือได้ ปลอดภัย และ มีเสถียรภาพ แต่ในความเป็นจริงแล้วหลายๆโปรแกรมอาจยังมีข้อผิดพลาดซุกซ่อนอยู่ การจัดการคุณภาพที่ไม่ดีเป็นสาเหตุของหลายๆปัญหาที่เกิดขึ้นกับซอฟต์แวร์ในปัจจุบัน ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการทดสอบและแก้ปัญหา   แม้ว่าจะเป็นโปรแกรมเล็กๆ แต่ก็อาจมีข้อผิดพลาดซ่อนอยู่เป็นจำนวนมาก และโดยปรกติแล้ว จำนวนข้อผิดพลาดเหล่านี้จะเพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณเมื่อขนาดของโปรแกรมใหญ่ขึ้น ซึ่งอาจทำให้ต้องใช้เวลาแก้ไขหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน

วิศวกรซอฟต์แวร์จึงต้องเป็นบุคคลซึ่งรู้วิธีการที่จะทำงานให้มีคุณภาพ ตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้สามารถบริหารจัดการทีมพัฒนาซอฟต์แวร์ได้อย่างเหมาะสม และ วางแผนการทำงานได้อย่างแม่นยำ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ควรเริ่มต้นจากการรู้ถึงประสิทธิภาพของผู้พัฒนาซอฟต์แวร์แต่ละคน อันส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพของซอฟต์แวร์ที่ผลิต ถ้าแต่ละบุคคลสามารถเขียนแต่ละส่วนของโปรแกรมให้มีคุณภาพที่ดีก็จะทำให้สามารถผลิตซอฟต์แวร์ที่มีคุณภาพออกมาได้

การจะรู้ถึงประสิทธิภาพในการทำงานของแต่ละบุคคลนั้น ทางหนึ่งที่ทำได้คือการจดบันทึกทุกขั้นตอนในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของเวลาที่ใช้ หรือข้อผิดพลาดต่างๆที่เกิดขึ้น แน่นอนว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงาน เพื่อทำให้เป็นระเบียบมากขึ้น สำหรับคนที่ยังไม่คุ้นเคยอาจมองว่าเป็นการเพิ่มภาระ และ ทำให้เสียเวลา แต่เมื่อทำอย่างสม่ำเสมอจนเกิดเป็นความเคยชินแล้วความยุ่งยากเหล่านั้นก็จะไม่เป็นอุปสรรค์ และจะทำให้เรามีข้อมูลเพื่อนำมาวิเคราะห์ หาหนทางในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และปรับปรุงกระบวนการทำงานให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคลได้

การที่เรามีข้อมูล ทำให้เราสามารถป้องกันข้อผิดพลาดต่างๆที่เคยเกิดขึ้นแล้ว และอาจจะเกิดขึ้นอีก ซึ่งดีกว่าการตามไปแก้ไขในภายหลัง อีกทั้งยังมีข้อมูลเพื่อนำมาใช้ช่วยวางแผนการทำงาน ซึ่งจะช่วยเพิ่มความแม่นยำของแผน และ สามารถติดตามแผนได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่เงื่อนไขที่สำคัญอันหนึ่ง คือ ข้อมูลที่ทำการจดบันทึกนั้น ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะถูกนำมาใช้ในการประเมินแต่ละบุคคล เนื่องจากงานแต่ละอย่างมีความแตกต่างกัน และเมื่อใดที่คุณคิดจะเอาข้อมูลเหล่านั้นมาใช้ประเมินแต่ละบุคคล เมื่อนั้นคุณอาจได้เห็นแต่ข้อมูลที่ดูสวยงาม และ คงไม่มีประโยชน์ที่จะนำมาใช้วิเคราะห์อะไรอีกต่อไป...

เพียงเท่านี้คงพอจะเห็นแล้วว่า การเป็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์มืออาชีพได้คงไม่ใช่เพียงแค่เขียนโปรแกรมเป็น...

อ้างอิง
1. Watts S. Humphrey, “PSP: A Self-Improvement Process for Software Engineering,” Addison Wesley, NJ, 2005

27 สิงหาคม 2553


มาวางแผนสร้างบ้านกันเถอะ



   เมื่อหลายเดือนก่อนมีอาจารย์ท่านหนึ่งกรุณารับเชิญมาบรรยายในเรื่อง การจัดการโครงการพัฒนาซอฟต์แวร์โดยมีเวลาให้เพียง 5 ชั่วโมง ที่จะต้องบรรยายให้ผู้ฟังซึ่งมีพื้นฐานความรู้ต่างกันฟัง โดยถ้าพิจารณาจากหัวข้อ ผู้เขียนมองเป็นหัวข้อที่ค่อนข้างกว้าง จนนึกภาพไม่ออกว่าจะบรรยายเรื่องอะไรได้บ้างในเวลาจำกัด และให้คนฟังรู้เรื่อง โดยไม่รู้สึกง่วงนอน แล้วก็แอบจินตนาการต่อไปเองว่า ถ้าผู้เขียนกำลังเลือกหัวข้อบรรยายที่จะเข้าฟังอยู่ โดยมีสิทธิ์เลือกได้เพียงหัวข้อเดียว จากกว่า 20 หัวข้อ ผู้เขียนจะเลือกฟังหัวข้อนี้หรือไม่... คำตอบที่แอบตอบตัวเองอยู่ในใจคือ...แน่ใจว่าไม่!

   มิใช่ว่าหัวข้อดังกล่าวจะไม่น่าสนใจหรอกนะ แต่ลำพังตัวผู้เขียนเองไม่ใคร่จะถูกกับวิชาที่ออกแนวบรรยายสักเท่าไหร่ และภาพของวิชาการจัดการโครงการพัฒนาซอฟต์แวร์ ก็น่าจะเป็นการบรรยายถึงอะไรที่จับต้องไม่ได้ เป็นนามธรรม ไร้ซึ่งทฤษฎีที่สามารถพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนด้วยสมการทางคณิตศาสตร์ เป็นเพียงการนำเอาสูตรสมการบางส่วนมาใช้แทรกอยู่ตามจุดเล็กๆ แล้วนอกนั้นก็ใช้ประสบการณ์ ความเชื่อ ความคิดเห็น ของคนบางกลุ่ม มาตั้งเป็นทฤษฎีให้คนอื่นๆปฏิบัติตาม ถ้าใช้ได้ดีก็เอาความดีความชอบไป...เทคนิคนั้นดี เทคนิคนี้เยี่ยม แต่ถ้าไม่ได้ผลก็กลายเป็นว่า...ใช้ไม่เป็น ใช้ไม่ถูก หรือ ใช้ไม่เหมาะ โอ้...มันช่างน่าเบื่อหน่ายเหลือเกินสำหรับตัวผู้เขียน

   แน่นอนว่าหลายๆคนคงไม่คิดเช่นนั้น ผู้เขียนเองมีเพื่อนคนหนึ่งที่คลั่งไคล้มาตราฐานต่างๆเป็นอย่างมาก ถึงขนาดเถียงกันอย่างเอาเป็นเอาตายทุกครั้งที่บังอาจไปตำหนิติเตียนมาตราฐานที่ท่านศรัทธา อ่ะ..อย่าให้มาได้อ่านเจอเชียวนะ ไม่เช่นนั้นคงได้บ่นกันอีกกระบุงใหญ่ อันที่จริงแล้วผู้เขียนเองก็ยอมรับว่ามาตราฐานต่างๆมีข้อดี คนที่คิดหรือกำหนดมาตราฐานขึ้นก็คงเล็งเห็นแล้วว่ามันจะเป็นประโยชน์ และก็คงอยากบอกสิ่งดีๆต่อ เพื่อให้คนอื่นได้ทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ มีแนวทางชัดเจน หรือไม่ทำงานไปโดยไร้ค่า แต่ทำอย่างไรได้เล่า...ก็ผู้เขียนไม่ได้รู้ซึ้งถึงมันสักเท่าไหร่ พัฒนาซอฟต์แวร์เหรอ ก็แค่สร้างให้มันเสร็จทัน ไม่มีข้อผิดพลาด ตั้งใจทำให้ดีซะตั้งแต่แรกเท่านี้ก็น่าจะพอ แล้วจะเอามาตราฐานมาทำให้วุ่นวาย เสียเวลาเพิ่มไปอีกทำไมกัน

   ทุกวันนี้ผู้เขียนก็ยังเชื่อเช่นนั้น คือถ้าทำให้ดีตั้งแต่แรกก็จะไม่มีปัญหา ไม่จำเป็นต้องตรวจสอบ แต่ก็ได้รับรู้เพิ่มเติมอีกว่า การทำให้ดีตั้งแต่แรกนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งถ้าทำงานเป็นทีม ถึงเราจะพยายามท าให้ดีสักแค่ไหน ถ้าคนอื่นไม่ได้พยายามด้วย หรือ ทำกันคนละแบบก็ย่อมจะเกิดปัญหาได้ ดังนั้นถ้าไม่มีมาตราฐาน ไม่มีการตรวจสอบ หรือไม่มีการวางแผนล่วงหน้า หนทางสู่ความสำเร็จก็จะค่อยๆดูมืดมนลงเมื่อเวลาส่งงานคืบคลานเข้ามา ถึงแม้จะตระหนักเช่นนั้น แต่จะให้ผู้เขียนกลับไปนั่งเรียนวิชาการจัดการโครงการพัฒนาซอฟต์แวร์ อย่างสนุกสนานราวกับเป็นวิชาที่โปรดปราน ก็ยังคงเป็นเรื่องที่ทำได้ยากยิ่ง โดยเฉพาะถ้าเป็นการบรรยายอันแสนยาวนานและน่าเบื่อด้วยแล้ว ผู้เขียนแทบไม่อยากจะได้ยิน

   แต่ด้วยเหตุที่ว่า ผู้เขียนเป็นผู้เรียนเชิญอาจารย์ท่านนั้นมาบรรยาย จึงมีหน้าที่สำคัญอันหนึ่ง คือการต้อนรับอาจารย์ท่านนั้น รวมถึงจัดเตรียมอุปกรณ์ต่างๆที่จะใช้ในการบรรยายด้วย อาจารย์ท่านนั้นให้ช่วยจัดเตรียมอุปกรณ์ ทั้งกระดาษจำนวนมาก ดินสอ ไม้บรรทัด กรรไกร คัตเตอร์ กาว และ สก๊อตเทป อย่างละหลายชิ้น เพิ่งมารู้ในภายหลังว่าอุปกรณ์เหล่านี้จะมีมูลค่ามากกว่าที่มันเป็น เมื่อมันได้เข้าไปอยู่ในห้องบรรยาย

   การบรรยายนี้ไม่ได้น่าเบื่ออย่างที่ผู้เขียนแอบคิดไว้ในตอนแรก (ไม่ได้คิดแบบนี้คนเดียวนะ อาจารย์ด้านอื่นอีกหลายท่านก็คิดคล้ายๆกัน…ขอไม่เอ่ยนาม) เริ่มต้นการบรรยายเป็นอย่างไรไม่อาจทราบได้ แต่เมื่อผู้เขียนเข้ามาดูในห้องบรรยายอีกครั้ง พบว่ามีการแบ่งผู้เข้าฟังเป็นกลุ่ม แต่ละกลุ่มต้องใช้ทุนเริ่มต้นที่มีให้ในการขอซื้ออุปกรณ์ต่างๆ อาทิเช่น กระดาษ ไม้บรรทัด กรรไกร สก๊อตเทป ซึ่งขึ้นอยู่กับความต้องการที่สมาชิกในกลุ่มได้ตกลงกัน และนำอุปกรณ์เหล่านี้มาใช้ผลิตของกลับไปขายให้แก่ผู้บรรยาย ถึงตอนนี้คงเดาไม่ยากแล้วสินะว่าของที่ผลิตหรือสร้างขึ้นมานั้นคืออะไร ของที่ต้องสร้างก็คือบ้านนั่นเอง... สร้างบ้านด้วยกระดาษในเวลาที่จำกัด คิดๆดูก็ไม่ยากเท่าไหร่หนิหน่า พับไปพับมา ใส่หลังคาก็น่าจะเสร็จ

   แต่มันไม่แค่นั้นหนะสิ... ก็ลูกค้าเรื่องมาก แล้วไม่ยอมบอกความต้องการทั้งหมดในคราวเดียว บางเรื่องไม่ถามก็ไม่ยอมบอกอีก แถมก่อนหน้านั้น ยังมีให้ทำข้อตกลงว่าจะส่งมอบบ้านให้กี่หลัง ถ้าไม่ได้ตามจำนวนเท่านั้นก็จะถูกปรับด้วย... ทำไปก็ต้องมาคอยวัดว่าได้ขนาดตามที่ลูกค้าบอกมั้ย เวลาเหลือแค่ไหนแล้ว จะทำทันมั้ย หรือควรไปต่อลองกับลูกค้าดีกว่า โอ้...ปัญหาเยอะแยะ อุปกรณ์ที่ซื้อมาก็มีจำกัด ทำให้ช่วยเพื่อนทำไม่ได้ ถ้าจะซื้ออุปกรณ์เพิ่ม กำไรก็จะเหลือนิดเดียว... สุดท้ายก็ต้องทำเท่าที่ทำได้ แบ่งหน้าที่กันไป แล้วค่อยมาตรวจสอบก่อนส่งมอบให้ลูกค้า ซึ่งแทบไม่มีกลุ่มใดทำทัน

   เมื่อถึงเวลาต้องส่งงาน ลูกค้าตรวจงานที่แต่ละกลุ่มส่งมอบแล้วก็พบอีกว่า ไม่มีกลุ่มใดที่ส่งงานได้ตรงตามความต้องการของลูกค้าเลยสักกลุ่มเดียว อ่าว...อุตส่าห์ทุ่มเททำกันมา เหนื่อยกันเปล่าๆหรือนี่ เป็นเพราะอะไรกัน ในที่สุดคุณลูกค้าก็เฉลยว่าเค้าอยากได้บ้านที่มีหน้าต่าง 2 บาน ขอแค่ 2 บานด้วยนะ ใครไม่มีหน้าต่าง หรือใครทำหน้าต่างมาให้ 4 บานก็ถือว่าไม่ตรงความต้องการเช่นกัน... แล้วทุกกลุ่มก็พยายามที่จะโวยวายว่าไม่ได้ตกลงกันไว้ คุณลูกค้ากิตติมศักดิ์โต้กลับมาว่าไม่มีใครมาถาม ก็ไม่จำเป็นต้องบอก มิใช่เหรอ... อืมนะ...ถ้าเป็นคนอื่นก็อาจมีเรื่องกันไปแล้ว แต่นี่เป็นคุณลูกค้า ลูกค้าเป็นพระเจ้า ย่อมได้ๆ...

   หลังจากนั้นทุกคนก็ได้รับรู้ว่า การบริหารจัดการโครงการพัฒนาซอฟต์แวร์มีความยุ่งยากมิใช่น้อย อุปสรรคมาได้จากหลายทิศทาง ทั้งจากคุณลูกค้าผู้เป็นพระเจ้า จากการประมาณการที่อาจมีความผิดพลาด หรือ ข้อจำกัดด้านกำลังคนและเครื่องมือที่มีอยู่ ซึ่งการควบคุมปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้เป็นงานที่ไม่ควรละทิ้ง และหากมีเครื่องมือที่ช่วยในการจัดการหรือทำให้สามารถติดตามความคืบหน้าของงานได้ ก็คงจะช่วยให้โครงการมีแนวโน้มเข้าใกล้ความสำเร็จมากขึ้น และการบรรยายครั้งนั้นก็สอนให้รู้ว่า การเรียนรู้เรื่องการจัดการโครงการพัฒนาซอฟต์แวร์ไม่จำเป็นจะต้องน่าเบื่อเสมอไป หากมีเทคนิคการบรรยายที่ทำให้เห็นภาพ หรือได้ประสบกับปัญหาจริง อย่างเช่น การสร้างบ้าน ดังกล่าว...


   ขอขอบคุณ อ.สุรเดช จิตประไพศาลกุล สำหรับตัวอย่างดีๆ ที่ทำให้ตั้งใจว่าจะเล่าทุกอย่างที่ต้องการเมื่อคิดจะมีบ้านสักหลัง...

18 มิถุนายน 2554

ส่งหมูกลับชายแดน - 13 เม.ย. 2013












Theory of Computation


อยากบอกรักเป็นภาษารูปนัย
หวังว่าเธอคงเข้าใจภาษานั้น
จะ Accept หรือ Reject ไม่ว่ากัน
Automata ของฉัน จะตรวจเอง

String หวานหวาน ที่ส่งไปให้
เธอได้รับ บ้างไหม ช่วงแถลง
Alphabet แต่ละตัว ที่แสดง
Transducer ช่วยจำแลง ลองแปลงดู

ถ้าเธอคิด ว่ามันยาก ลำบากนัก
Non-deterministic เห็นประจักษ์ แน่ชัดอยู่
Null ทั้งหลาย กำจัดได้ เพียงเธอรู้
ไม่ได้ขู่ Kleene ช่วยได้ ดูง่ายลง

Context Free ที่ฉัน นั้นมีให้
หากเธอใช้ รับรอง สมประสงค์
Ambiguous ที่มาทำ ให้มึนงง
คงหมดลง เพราะแพ้ทาง ข้อความรักเธอ...


วันอาทิตย์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2556

Linear Algebra ที่คิดถึง


ตื่นขึ้นมา ทำงาน ตอนยามสี่

ดันปวดฉี่ วิ่งไม่ทัน มันเลยไหล
เปิดตำรา นั่งอ่าน อย่างเย็นใจ
เธอรู้ไหม ว่าฉัน อ่าน...อะไร ???
อ่านไปได้ สักพัก ชักเริ่มง่วง
มันแปรปรวน ผวนผัน ใจหวั่นไหว
ฝันไปถึง คนที่ อยู่แสนไกล
จึงอยากฝาก ดวงใจ ไปกับกลอน
อยากให้ใจ ของเขา symmetry
ไม่ให้มี field อื่นใด มาแอบซ่อน
dependent กับฉัน ทุกขั้นตอน
แม้ตอนนอน ก็ยัง span ใจ
หากใจเขา operate กับใจอื่น
ฉันคงฝืน inverse เขาไม่ได้
จะ transform เขาใหม่ ทั้งดวงใจ
ให้ฉันเป็น basis ในใจดวงเดิม
แต่ฉันทำ ไม่ได้ ดั่งใจหวัง
เขาก็ยัง ปันใจ ให้คนอื่น
เหมือนเข็มแหลม มาทิ่มแทง ทุกวันคืน
ฉันจึงตื่น เพราะยุงร้าย เจ้าตัวดี
บทสุดท้าย ฝากไว้ ก่อนจะจาก
ยุงอุบาทว์ ทำพิษ เลยคิดหนี
กลับไปนอน อย่างเดิม นั่นแหละดี
พอกันที เจ้า linear น่าเพลียใจ


นิราศแล๊ป MIND





คิดถึงแล๊ป MIND ไม่น้อยกว่าที่อื่นใด 
เหมือนหนึ่งดวงใจฉันอยู่ที่นั่น
คิดถึงนุ ถึงน๊อต ถึงหนึ่ง ทุกวัน
ส่วนจูงนั้นก็ยังไม่กลับมา

แป๊ะกับเฉิง น้องใกล้ๆ นั่งข้างๆ
จำต้องห่างจากไกลอาลัยหา
อั๋นอีกเล่าตอนจากไม่ได้ลา
แล้วยังปลาชวนสอนเด็กเลยอดกัน

คิดถึงเพชรตัวอ้วนใหญ่แล๊ปใกล้เคียง
เคยยินเสียง เคยทานข้าว เคยสังสรรค์
เคยสนุก เคยหยอกล้อ เคยเที่ยวกัน
เคยขำขัน ไม่เกรงใจ น้องเอี่ยมเลย

ยังพี่เดชอีกคนลืมไม่ได้
แต่ทำไมเห็น GA ลอยมาเฉยยย...
ชักเริ่มเครียด เดี๋ยวอาจไม่เสบยยย..
เปลี่ยนเรื่องเลย จะคิดถึงใครต่อดี

อันที่จริงอีกหลายคนให้คิดถึง
แต่สุดซึ้งในดวงใจต้องคนนี้
คินดะอิจิ โคนัน คิว แล้วยังมี
จอมโจรคิดหนะสิ เท่ห์สุดเลยยย

พอดีกว่าเพราะเนื้อที่มีจำกัด
แถมยังหาสาระไม่ได้เลยนะคุณเอ๋ย
แต่สุดท้ายที่คิดถึงกว่าใครเลย
จะเฉลยก็อาจารย์บุญเสริมไง...



Question Tag



Question Tag เป็นคำถามชนิดหนึ่ง ซึ่งนิยมใช้ในการสนทนา โดยผู้ถามต้องการเน้นให้ผู้ฟังมีความคิดเห็นคล้อยตามความคิดของตน

Question Tag บางทีเรียกว่า Tag Question หรือ Tail Question รูปประโยคประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ส่วนหัว (Head) และ ส่วนหาง (Tail) เช่น

He speaks English well, doesn't he?   ...   Yes, he does.
You can't do it, can you?   ...   No, I can't.

หลักการเขียน Question Tag มีดังนี้
1. ถ้าส่วนหัวมีรูปเป็นประโยคบอกเล่า ส่วนหางต้องเป็นคำถามปฏิเสธแบบย่อ
2. ถ้าส่วนหัวมีรูปเป็นประโยคปฏิเสธ ส่วนหางต้องเป็นรูปคำถาม (ในกรณีที่มี adverb แสดงความหมายปฏิเสธ เช่น never, seldom, rarely, scarcely, nothing, etc. ให้ถือเป็นประโยคปฏิเสธ)
3. ประธานส่วนหางต้องมาจากส่วนหัว และต้องอยู่ในรูปสรรพนาม
4. ปฏิเสธแบบย่อของ am (am not) ใช้ aren't แทน
5. ประโยคที่ขึ้นต้นด้วย there is, there ... ประธานส่วนหางใช้ there
6. ประโยคที่ขึันต้นด้วย this, that ประธานส่วนหางใช้ it
7. ประโยคที่ขึันต้นด้วย these, those ประธานส่วนหางใช้ they
8. ประโยคที่ขึันต้นด้วย everyone, everybody, anyone, nobody, no one ประธานส่วนหางใช้ they
9. ประโยคคำสั่ง, ห้าม, ขอร้อง, อนุญาติ (ทั้งปฏิเสธและบอกเล่า) ในส่วนหางใช้ will you
10. ประโยคที่ขึ้นต้นด้วย Let's (Let us) ในส่วนหางใช้ shall we
11. ประโยคที่ขึ้นต้นด้วย Let him ในส่วนหางใช้ will you
12. ถ้าประโยคไหนมี used to ให้ถือว่าประโยคนั้นเป็น Past Tense
13. กิริยา need และ dare เป็นได้ทั้งกริยาแท้และกริยาช่วย

การตอบ Question Tag
1. ถ้าประโยคหน้าเป็นบอกเล่า ให้คาดว่าคำตอบเป็น Yes
2. ถ้าประโยคหน้าเป็นปฏิเสธ ให้คาดว่าคำตอบเป็น No
3. คำตอบอาจไม่เป็นไปตามหลักนี้เสมอไป โดยเฉพาะประโยคที่แสดงถึงความจริง

... ที่เล่ามาเนี่ยดูดีมีหลักการ หรือไม่จริง? ...



วันพุธที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2556

Relative Pronoun



Relative Pronoun คือ คำที่ใช้เชื่อมประโยค และในเวลาเดียวกันใช้แทนนามที่มาข้างหน้าด้วย โดยวางไว้กลางประโยคเพื่อทำหน้าที่รวมประโยคเล็กๆตั้งแต่สองประโยคขึ้นไป เข้าเป็นประโยคเดียวกัน และเพื่อหลีกเลี่ยงการพูดนามนั้นซ้ำอีก หรือเรียกว่าเป็นตัวสันธาน มี 8 ตัว ได้แก่

1. who ใช้เชื่อมประโยคแทนนามที่เป็นคนที่พูดถึงไปแล้ว โดยทำหน้าที่เป็นประธานของประโยคต่อไป

2. whom ใช้เชื่อมประโยคแทนนามที่เป็นคนที่พูดถึงไปแล้ว โดยทำหน้าที่เป็นกรรมของประโยคต่อไป

3. whose ใช้เชื่อมประโยค เพื่อแสดงความเป็นเจ้าของ

4. which ใช้เชื่อมประโยค แทนนามที่เป็น สัตว์ สิ่งของ สถานที่ ที่พูดถึงแล้ว โดยทำหน้าที่เป็นประธานและกรรมในประโยค 
ถ้ามีบุพบท of ทำหน้าที่แสดงความเป็นเจ้าของใชั of which เชื่อมประโยคแสดงความเป็นเจ้าของ ของสัตว์ สิ่งของ สถานที่

5. that ใช้เชื่อมประโยค แทนนามที่เป็น สัตว์ สิ่งของ สถานที่ ที่กล่าวมาแล้วข้างหน้า โดยทำหน้าที่ได้ทั้งประธานและกรรม

6. where แทนนามที่เป็นสถานที่ เป็นได้ทั้งประธานและกรรม

7. what แทนนามที่เป็นสิ่งของ ใช้แทน the thing which

8. when แทนนามที่เป็นเวลา เป็นได้ทั้งประธานและกรรม

วันอังคารที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2556

เปิดตำนานไข่พะโล้




วันก่อนนั่งทานข้าวที่โรงอาหารกับเจ้าหมูอ้วน...หนึ่งในกับข้าวที่ข้าพเจ้าสั่งมาทานมีไข่พะโล้อยู่ด้วย แล้วอยู่ๆเจ้าหมูอ้วนก็ถามขึ้นมา...

หมูอ้วน: ทำไมเค้าถึงเรียกพะโล้

ข้าพเจ้า: ไข่พะโล้เนี่ยเหรอ

หมูอ้วน: ช่าย ทำไมเค้าถึงเรียกพะโล้เหรอ

ข้าพเจ้า: ก็เหมือนหมูพะโล้ไง ทำแบบเดียวกันแต่เป็นไข่ก็เลยเรียกไข่พะโล้แทน

หมูอ้วน: แล้วทำไมต้องเป็นพะโล้ (น้ำเสียงเริ่มหงุดหงิด)
            ตั้งแต่หมูพะโล้เลย ทำไมต้องเป็นพะโล้
            อย่าบอกนะว่าทำเหมือนไข่พะโล้เลยเรียกหมูพะโล้ (หงุดหงิดเต็มพิกัด พร้อมดักทุกทาง)

ข้าพเจ้าจึงต้องยอมเปิดตำนานเล่าเรื่องราวของไข่พะโล้ให้หมูอ้วนฟังดังต่อไปนี้...

... กาลครั้งหนึ่ง ประมาณสมัยช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ประเทศไทยเริ่มมีการติดต่อการค้ากับต่างชาติมากขึ้น มีทั้งต่างชาติที่เข้ามาติดต่อด้วย และพ่อค้าที่เดินทางออกไปติดต่อการค้า   หนึ่งให้ประเทศที่เรามีการติดต่อการค้าด้วยก็คือประเทศจีน การเข้ามาของชนชาติจีนทำให้วัฒนธรรมหลายๆอย่างเปลียนแปลงไป รวมถึงวัฒนธรรมด้านอาหารการกินด้วย   ทางด้านศาสนาก็เช่นกัน มีการส่งพระภิกษุไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา แลกเปลี่ยนความรู้และวัฒนธรรมต่างๆ  โดยการเดินทางในสมัยนั้นใช้เรือเป็นพาหนะหลัก ทำให้การเดินทางในแต่ละครั้งใช้เวลามากพอสมควร ...

... ในสมัยนั้นเองมีพระภิกษุอยู่รูปหนึ่ง เคยเดินทางไปเผยแผ่พระพุทธศาสนายังประเทศจีน และเกิดติดใจในรสชาติของอาหาร เมื่อกลับมายังบ้านเกิดเมืองนอนแล้วก็ยังไม่อาจลืมรสชาติที่เคยได้สัมผัส เฝ้าวนเวียนนึกถึงอยู่เป็นนิจ และอยากให้ญาติมิตรได้ลิ้มลองรสชาตินั้นบ้าง   เมื่อสบโอกาสจึงได้เดินทางเพื่อไปเสาะหาสูตรอาหารนั้นยังประเทศจีนอีกครั้ง แต่เมื่อกลับมาลองทำก็ยังไม่ได้รสชาติที่ต้องการอีก  ทำให้ต้องเดินทางไปประเทศจีนอีกหลายรอบ...   จนในที่สุดก็สำเร็จ เกิดเป็นรสชาติที่พระภิกษุรูปดังกล่าวเคยได้ลิ้มลอง

... เมื่อบรรดาชาวบ้านได้ชิมก็เกิดความประทับใจ และรู้สึกขอบคุณพระภิกษุรูปนั้นเป็นอย่างมาก พากันสอบถามที่มา สอบถามสูตรของอาหารดังกล่าว และพากันขนานนามให้ว่า "พะโล้" ... โดยมาจากการที่พระภิกษุ โล้เรือไป โล้เรือมาหลายรอบ เพื่อให้ได้อาหารดังกล่าวมานั่นเอง...

ข้าพเจ้า: จบละ ... แหะๆ...

หมูอ้วน: เซ็ง!!!


ps. เรื่องราวที่เกิดขึ้นเป็นเพียงเรื่องที่แต่งขึ้น มิได้มีเจตตาลบลู่ศาสนาหรือพระภิกษุสงฆ์แต่อย่างใด


วันอาทิตย์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2555

สมบัติของของเหลว

"น้ำใสใสหยาดหยด
เศร้าสลดยากเลือนหาย
ความอบอุ่นช่วยผ่อนคลาย
ทุกข์มลายเมื่อหยดน้ำระเหยไป"


สมบัติของของเหลว

1. ประกอบด้วยโมเลกุลที่เคลื่อนที่อย่างไม่เป็นระเบียบอยู่ตลอดเวลา และมีการชนกันอยู่ตลอดเวลาในโมเลกุล

2. การเพิ่มความดันจะไม่ทำให้ของเหลวมีปริมาตรลดลง เพราะเดิมโมเลกุลอยู่ชิดกันอยู่แล้ว จึงมีช่องว่างระหว่างโมเลกุลที่จะบีบอัดให้ชิดกันเข้าไปน้อย

3. ของเหลวมีแรงดึงดูดระหว่างโมเลกุลมากกว่าก๊าซ จึงทำให้มีจุดเดือดและจุดหลอมเหลวสูงกว่า

4. ของเหลวมีการแพร่ได้ด้วยอัตราที่ช้ากว่าก๊าซ เพราะของเหลวมีความหนาแน่นมากกว่า



สมบัติของน้ำตา (หลั่งออกมาเมื่อเศร้าใจ)

1. เกิดจากความรู้สึก เศร้าโศก สับสน ว้าวุ่น หรือเป็นอารมณที่ไร้ระเบียบภายในจิตใจ และอาจมีความขัดแย้งอย่างมากภายในจิดใจ 

2. การเพิ่มความกดดันจะไม่ทำให้น้ำตามีปริมาณลดลง เพราะเดิมความเศร้าเป็นเรื่องยิ่งใหญ่อยู่แล้ว จึงไม่มีเรื่องใดที่จะทำให้เรื่องที่เศร้าใจยิ่งใหญ่น้อยลง

3. น้ำตามีแรงดึงดูดคนใกล้ชิดมากกว่าอารมณ์หงุดหงิด จึงทำให้พรั่งพรูและหลั่งไหลโดยมีผู้ปลอบประโลมได้มากกว่า

4. น้ำตาแพร่ความหงุดหงิดไปยังคนรอบข้างได้ด้วยอัตราที่ช้ากว่าอารมณ์ (การแสดงอารมณ์หงุดหงิดมักทำให้คนอื่นหงุดหงิดไปด้วย แต่ถ้าหงุดหงิดแล้วร้องไห้ จะใช้เวลาซักพักที่คนรอบข้างจะหงุดหงิดเพราะรำคาญ) เพราะน้ำตาเก็บความรู้สึกไว้อย่างเหนียวแน่นในหยาดน้ำแต่ละหยด


------------------------

การระเหยของของเหลว

การระเหย หมายถึง กระบวนการที่ของเหลวเปลี่ยนสถานะกลายเป็นไอ เกิดที่บริเวณผิวของของเหลวและเกิดได้ทุกอุณหภูมิ

การระเหย เป็นการเปลี่ยนแปลงสถานะ ดังนั้นต้องใช้พลังงานหรือดูดความร้อนจากสิ่งแวดล้อมเข้ามา และสารที่ระเหยได้เร็วก็จะดูดความร้อนได้มาก ทำให้สิ่งแวดล้อมอุณหภูมิต่ำลง จึงทำให้สารระเหยได้ง่าย



การระเหยของน้ำตา

การระเหย หมายถึง กระบวนการที่น้ำตาเปลี่ยนสถานะกลายเป็นไอแล้วแห้งเหือดไป (เปรียบได้กับการรู้สึกดีขึ้น หรือคลายความเศร้าโศก) เกิดที่บริเวณผิวหน้าหรือเห็นได้ด้วยตารับรู้ได้จากความรู้สึก และเกิดได้จากทุกอารมณ์ (เปลี่ยนจากเศร้า เป็นโกรธ ดีใจ พอใจ หรือ ไม่สนใจก็ได้) 

การระเหย เป็นการเปลี่ยนแปลงสถานะของอารมณ์ ดังนั้นต้องใช้พลังงานหรือความอบอุ่นจากสิ่งแวดล้อมเข้ามา และน้ำตาที่ระเหยได้เร็วก็จะซึมซับความอบอุ่นได้มาก ทำให้อุณหภูมิของอารมณ์ต่ำลง จึงทำให้ความเศร้าระเหยได้ง่าย


------------------------

ปัจจัยที่มีผลต่อการระเหยของของเหลว

1. แรงยึดเหนี่ยวระหว่างโมเลกุลของสาร หรือชนิดของของเหลว ถ้ามีแรงยึดเหนี่ยวระหว่างโมเลกุลน้อย จะระเหยได้เร็วกว่าสารที่มีแรงยึดเหนี่ยวระหว่างโมเลกุลมาก หรือสารที่จุดเดือดสูงจะระเหยได้ช้า

2. สิ่งแวดล้อม ถ้าอุณหภูมิสูงจะระเหยได้เร็ว

3. ความดันบรรยากาศ ถ้าความดันสูงของเหลวระเหยได้ยากกว่าที่ความดันบรรยากาศต่ำ

4. พื้นที่ผิวสัมผัสอากาศ เนื่องจากการระเหยเกิดที่ผิวหน้าของของเหลว ดังนั้นถ้าพื้นที่ผิวมากก็จะระเหยได้เร็ว

5. อากาศเหนือของเหลว ถ้าอากาศแห้งหรือความชื้นน้อย และ ถ่ายเทได้ดีของเหลวจะระเหยได้เร็ว

6. สิ่งแวดล้อมอื่นๆ เช่น การคนหรือกวน จะช่วยทำให้ของเหลวระเหยเร็วขึ้น เพราะโมเลกุลมีพลังงานจลน์สูง มีโอกาสอยู่ผิวหน้ามากขึ้น



ปัจจัยที่มีผลต่อการระเหยของน้ำตา

1. แรงยึดเหนี่ยวหรือความผูกพันธ์ในจิตใจ หรือความคิดของแต่ละบุคคล ถ้ามีแรงยึดเหนี่ยวในเรื่องที่เศร้าใจน้อย ความเศร้าจะระเหยได้เร็วกว่ากรณีที่มีแรงยึดเหนี่ยวในเรื่องที่เศร้านั้นมาก หรือถ้าอารมณ์เดือดสูงจะความเศร้าก็จะระเหยได้ช้า

2. สิ่งแวดล้อม ถ้าความอบอุ่นสูงความเศร้าจะระเหยได้เร็ว

3. ความกดดัน ถ้าความกดดันสูง หยดน้ำตาจะระเหยได้ยากกว่าที่ความกดดันต่ำ

4. การได้สัมผัสอากาศ เนื่องจากการระเหยของน้ำตาเกิดที่ผิวหน้าก่อน ดังนั้นถ้าออกไปเจอโลกภายนอกบ้าง น้ำตาก็จะระเหยได้เร็ว

5. บรรยากาศรอบๆตัว ถ้าบรรยากาศรอบๆตัวสงบ หรือไม่มีความเศร้าจากเรื่องอื่นเข้ามาปน และ อารมณ์สามารถถ่ายเทได้ดี น้ำตาจะระเหยได้เร็ว

6. สิ่งแวดล้อมอื่นๆ เช่น การทำงานหรือกิจกรรมสนุกสนาน จะช่วยทำให้น้ำตาระเหยเร็วขึ้น เพราะเมื่อมีการขยับก็มีพลังงานจลน์สูง มีโอกาสต้องเผชิญหน้ากับเรื่องอื่นมากขึ้น


------------------------

ลมบก-ลมทะเล




ลมบก
เกิดในเวลากลางคืน พัดจากฝั่งออกสู่ทะเล
เนื่องจากในเวลากลางคืน
อากาศเหนือพื้นน้ำมีอุณหภูมิสูง ความหนาแน่นน้อย ความกดอากาศต่ำ
จึงลอยตัวขึ้นสู่ที่สูง
ทำให้อากาศเหนือพื้นดิน ที่มีอุณหภูมิต่ำ ความหนาแน่นมาก ความกดอากาศสูง 
พัดเข้ามาแทนที่

-----------------------------------------------------------

ลมทะเล
เกิดในเวลากลางวัน พัดจากทะเลออกสู่ฝั่ง

เนื่องจากในเวลากลางวัน
อากาศเหนือพื้นดินมีอุณหภูมิสูง ความหนาแน่นน้อย ความกดอากาศต่ำ
จึงลอยตัวขึ้นสู่ที่สูง
ทำให้อากาศเหนือพื้นน้ำ ที่มีอุณหภูมิต่ำ ความหนาแน่นมาก ความกดอากาศสูง 
พัดเข้ามาแทนที่

-----------------------------------------------------------


จะทะเลหรือบนบก จะบนดินหรือในน้ำ แค่มีเธออยู่เคียงข้าง ก็เหมือนลมบางๆคอยพัดใจ...


วันเสาร์ที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2555

What type of your mind?



Primitive Data Type คงไม่ไหว
ADT ชนิดไหน ใคร่อยากรู้
ทั้ง Linked List, Stack, Queue ไม่อาจสู้
Array รู้ไม่อาจมาเทียบเคียง

Semaphore ที่ว่าแน่ยังแพ้เจ้า
Swap in, Swap out ไม่มีเสียง 
Insert ได้ Retrieve ได้ ไม่เอนเอียง
ช่างยอดเยี่ยมจริงนะหัวใจเธอ...



Verb แท้ไม่ได้มีแค่หนเดียว



ตอนเด็กๆ คุณครูเคยสอนไว้ว่า...

        ชีวิตอยู่ก็ต้องคอย enjoy, like

     ไม่ต้อง mind, consider นะเธอจ๋า

     จง finish อย่า risk เสี่ยงเลี่ยงเวลา

     no use น่ะ  no good ด้วย ช่วยกันจำ

        อย่า avoid คอย postpone จะโดนเทศน์

     appreciate อย่า deny ไม่น่าขำ

     be busy มีเสมอ เธอจงจำ

     keep ด้วยคำ excuse me ดีจริงๆ

        จง practice อย่าคิด spend เล่นเลยเถิด

     จะ be worth ดัง suggest วิเศษยิ่ง

     look forward to เธอ เสมอจริง

     be used to บวก -ing จริงทุกที

        prefer to, object to, or look like

     devote to คู่ใจไม่หน่ายหนี

     เมื่อ can't help, imagine ก็ยินดี

     feel like me อีก take to เป็นคู่กัน

                                               และ preposition ทุกตัว

...เป็น verb แท้ที่ต้องตามด้วย verb -ing



ปัจจุบัน...

        ตื่นเช้ามาก็ต้องคอยไปกด like

     พอสายหน่อยก็เข้าไป post จ๊ะจ๋า

     comment มาก ต้องนั่งอ่านเสียเวลา

     เก็บผักอีก นั่นแหละหนา งานประจำ...