"น้ำใสใสหยาดหยด
เศร้าสลดยากเลือนหาย
ความอบอุ่นช่วยผ่อนคลาย
ทุกข์มลายเมื่อหยดน้ำระเหยไป"
สมบัติของของเหลว
1. ประกอบด้วยโมเลกุลที่เคลื่อนที่อย่างไม่เป็นระเบียบอยู่ตลอดเวลา และมีการชนกันอยู่ตลอดเวลาในโมเลกุล
2. การเพิ่มความดันจะไม่ทำให้ของเหลวมีปริมาตรลดลง เพราะเดิมโมเลกุลอยู่ชิดกันอยู่แล้ว จึงมีช่องว่างระหว่างโมเลกุลที่จะบีบอัดให้ชิดกันเข้าไปน้อย
3. ของเหลวมีแรงดึงดูดระหว่างโมเลกุลมากกว่าก๊าซ จึงทำให้มีจุดเดือดและจุดหลอมเหลวสูงกว่า
4. ของเหลวมีการแพร่ได้ด้วยอัตราที่ช้ากว่าก๊าซ เพราะของเหลวมีความหนาแน่นมากกว่า
สมบัติของน้ำตา (หลั่งออกมาเมื่อเศร้าใจ)
1. เกิดจากความรู้สึก เศร้าโศก สับสน ว้าวุ่น หรือเป็นอารมณที่ไร้ระเบียบภายในจิตใจ และอาจมีความขัดแย้งอย่างมากภายในจิดใจ
2. การเพิ่มความกดดันจะไม่ทำให้น้ำตามีปริมาณลดลง เพราะเดิมความเศร้าเป็นเรื่องยิ่งใหญ่อยู่แล้ว จึงไม่มีเรื่องใดที่จะทำให้เรื่องที่เศร้าใจยิ่งใหญ่น้อยลง
3. น้ำตามีแรงดึงดูดคนใกล้ชิดมากกว่าอารมณ์หงุดหงิด จึงทำให้พรั่งพรูและหลั่งไหลโดยมีผู้ปลอบประโลมได้มากกว่า
4. น้ำตาแพร่ความหงุดหงิดไปยังคนรอบข้างได้ด้วยอัตราที่ช้ากว่าอารมณ์ (การแสดงอารมณ์หงุดหงิดมักทำให้คนอื่นหงุดหงิดไปด้วย แต่ถ้าหงุดหงิดแล้วร้องไห้ จะใช้เวลาซักพักที่คนรอบข้างจะหงุดหงิดเพราะรำคาญ) เพราะน้ำตาเก็บความรู้สึกไว้อย่างเหนียวแน่นในหยาดน้ำแต่ละหยด
------------------------
การระเหยของของเหลว
การระเหย หมายถึง กระบวนการที่ของเหลวเปลี่ยนสถานะกลายเป็นไอ เกิดที่บริเวณผิวของของเหลวและเกิดได้ทุกอุณหภูมิ
การระเหย เป็นการเปลี่ยนแปลงสถานะ ดังนั้นต้องใช้พลังงานหรือดูดความร้อนจากสิ่งแวดล้อมเข้ามา และสารที่ระเหยได้เร็วก็จะดูดความร้อนได้มาก ทำให้สิ่งแวดล้อมอุณหภูมิต่ำลง จึงทำให้สารระเหยได้ง่าย
การระเหยของน้ำตา
การระเหย หมายถึง กระบวนการที่น้ำตาเปลี่ยนสถานะกลายเป็นไอแล้วแห้งเหือดไป (เปรียบได้กับการรู้สึกดีขึ้น หรือคลายความเศร้าโศก) เกิดที่บริเวณผิวหน้าหรือเห็นได้ด้วยตารับรู้ได้จากความรู้สึก และเกิดได้จากทุกอารมณ์ (เปลี่ยนจากเศร้า เป็นโกรธ ดีใจ พอใจ หรือ ไม่สนใจก็ได้)
การระเหย เป็นการเปลี่ยนแปลงสถานะของอารมณ์ ดังนั้นต้องใช้พลังงานหรือความอบอุ่นจากสิ่งแวดล้อมเข้ามา และน้ำตาที่ระเหยได้เร็วก็จะซึมซับความอบอุ่นได้มาก ทำให้อุณหภูมิของอารมณ์ต่ำลง จึงทำให้ความเศร้าระเหยได้ง่าย
------------------------
ปัจจัยที่มีผลต่อการระเหยของของเหลว
1. แรงยึดเหนี่ยวระหว่างโมเลกุลของสาร หรือชนิดของของเหลว ถ้ามีแรงยึดเหนี่ยวระหว่างโมเลกุลน้อย จะระเหยได้เร็วกว่าสารที่มีแรงยึดเหนี่ยวระหว่างโมเลกุลมาก หรือสารที่จุดเดือดสูงจะระเหยได้ช้า
2. สิ่งแวดล้อม ถ้าอุณหภูมิสูงจะระเหยได้เร็ว
3. ความดันบรรยากาศ ถ้าความดันสูงของเหลวระเหยได้ยากกว่าที่ความดันบรรยากาศต่ำ
4. พื้นที่ผิวสัมผัสอากาศ เนื่องจากการระเหยเกิดที่ผิวหน้าของของเหลว ดังนั้นถ้าพื้นที่ผิวมากก็จะระเหยได้เร็ว
5. อากาศเหนือของเหลว ถ้าอากาศแห้งหรือความชื้นน้อย และ ถ่ายเทได้ดีของเหลวจะระเหยได้เร็ว
6. สิ่งแวดล้อมอื่นๆ เช่น การคนหรือกวน จะช่วยทำให้ของเหลวระเหยเร็วขึ้น เพราะโมเลกุลมีพลังงานจลน์สูง มีโอกาสอยู่ผิวหน้ามากขึ้น
ปัจจัยที่มีผลต่อการระเหยของน้ำตา
1. แรงยึดเหนี่ยวหรือความผูกพันธ์ในจิตใจ หรือความคิดของแต่ละบุคคล ถ้ามีแรงยึดเหนี่ยวในเรื่องที่เศร้าใจน้อย ความเศร้าจะระเหยได้เร็วกว่ากรณีที่มีแรงยึดเหนี่ยวในเรื่องที่เศร้านั้นมาก หรือถ้าอารมณ์เดือดสูงจะความเศร้าก็จะระเหยได้ช้า
2. สิ่งแวดล้อม ถ้าความอบอุ่นสูงความเศร้าจะระเหยได้เร็ว
3. ความกดดัน ถ้าความกดดันสูง หยดน้ำตาจะระเหยได้ยากกว่าที่ความกดดันต่ำ
4. การได้สัมผัสอากาศ เนื่องจากการระเหยของน้ำตาเกิดที่ผิวหน้าก่อน ดังนั้นถ้าออกไปเจอโลกภายนอกบ้าง น้ำตาก็จะระเหยได้เร็ว
5. บรรยากาศรอบๆตัว ถ้าบรรยากาศรอบๆตัวสงบ หรือไม่มีความเศร้าจากเรื่องอื่นเข้ามาปน และ อารมณ์สามารถถ่ายเทได้ดี น้ำตาจะระเหยได้เร็ว
6. สิ่งแวดล้อมอื่นๆ เช่น การทำงานหรือกิจกรรมสนุกสนาน จะช่วยทำให้น้ำตาระเหยเร็วขึ้น เพราะเมื่อมีการขยับก็มีพลังงานจลน์สูง มีโอกาสต้องเผชิญหน้ากับเรื่องอื่นมากขึ้น